

ความเป็นมาของศูนย์
ความเป็นมาและแนวคิดในการสร้างศูนย์ ACT Learning Space ภราดา ดร.ชำนาญ เหล่ารักผล
ท่านผู้อำนวยการโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี เล่าว่า “ ท่านเป็นนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีมาก่อน และได้กลับมาเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการในสมัยของท่านภราดาอนันต์
ปรีชาวุฒิ ปี 2538 ซึ่งเป็นช่วงที่อาคารรัตนบรรณาคารสร้างเสร็จ และเปิดอาคารอย่างเป็นทางการโดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ในปี 2540 และช่วยดูแลการสร้างอาคารหลุยส์ มารีกรียองต์เดอมงฟอร์ต หลังจากนั้นท่านได้ย้ายไปประจำการที่อื่น
จนกระทั่งในปี 2550-2556 ได้กลับมาเป็นผู้อำนวยการที่โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี 6 ปี เมื่อครบวาระท่านย้ายไปอยู่โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชาเป็นเวลา 6 ปี จึงได้ย้ายกลับมาเป็นผู้อำนวยการที่โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีในปี 2562
ถึงปัจจุบัน ท่านมีความรู้สึกผูกพันธ์กับโรงเรียนเป็นอย่างมาก จึงมีแนวคิดในการวิเคราะห์จุดเด่นจุดด้อยของโรงเรียน แล้วพบว่าโรงเรียนมีจุดเด่นคือมีสถานที่ที่กว้างขวาง เพียบพร้อม จึงสร้างเอกลักษณ์ของโรงเรียนโดยเน้นสุนทรียภาพของนักเรียนด้วยการจัดการเรียนการสอนดนตรี
และกีฬาโดยคำนึงถึงความแตกต่างทางความถนัดของผู้เรียน นั่นหมายความว่าผู้เรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจ นี่เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของโรงเรียนเป็นอย่างมาก ทำให้ผลงานทางวิชาการของโรงเรียนโดดเด่นไม่เท่าสุนทรียภาพที่ปรากฎ
จึงเป็นสาเหตุให้ท่านผู้อำนวยการเกิดความคิดที่จะผลักดันวิชาการให้มีความชัดเจน และประจักษ์ต่อสายตาคนภายนอกมากยิ่งขึ้น ท่านผู้อำนวยมองว่า การเรียนการสอนแบบ STEM กำลังเป็นที่นิยม และศูนย์ Bell เองก็เป็นที่นิยมไม่แพ้กัน
จึงเกิดแนวคิดในการก่อตั้งสายการเรียน STEM Bell ขึ้นในปีการศึกษา 2563 ทำให้จำนวนห้องของสายการเรียน STEM มีจำนวนมากขึ้น จึงคิดหาทางในการเพิ่มพื้นที่แห่งการเรียนรู้ทั้งแผนการเรียน STEM และอื่น ๆ โดยชั้น 3 อาคารรัตนบรรณาคาร
จากที่เป็นห้องสมุดแบบดั้งเดิมก็เปลี่ยนให้เป็นพื้นที่บริการส่วนกลางที่ส่งเสริมการเรียนรู้แห่งโลกอนาคต และย้ายห้องสมุดทวีปัญญาไปไว้อีกที่หนึ่ง รวมถึงหนังสือบางส่วนก็ได้บริจาคไปบ้าง
ผนวกกับการที่ท่านผู้อำนวยการได้ไปดูงานที่ประเทศฟินแลนด์ และได้ร่วมรับชมห้องสมุดที่ได้รางวัลระดับโลก จึงเป็นแรงบันดาลใจในการนำมาปรึกษาและวางแผนกับทางสถานปนิกผู้เชี่ยวชาญ และรู้จักพิมพ์เขียวของโรงเรียนเป็นอย่างดี ช่วยกันออกแบบเพื่อเปลี่ยนจากห้องสมุดแบบเดิมที่ไม่มีนักเรียนมาใช้งาน ให้กลายเป็นห้องสมุดสมัยใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องมีหนังสือ และมีพื้นที่บริการให้คนเข้ามาใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ เพื่อให้สอดคล้องกับการเรียนรู้สมัยใหม่ในศตวรรษที่ 21 รองรับการเรียนการสอนแบบ Active Learning จึงเกิดเป็น ACT STEM Center & Learning Space ซึ่งเป็นความตั้งใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อโรงเรียนครบรอบ 60 ปี ในปีการศึกษา 2564 นี้ ศูนย์ ACT Learning Space นับเป็นพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางของโรงเรียน ที่ไม่ว่าจะครูหรือนักเรียนก็สามารถที่จะเข้ามาใช้บริการได้ง่ายเนื่องจากมีทางเชื่อมจากแต่ละตึกมาถึงศูนย์ได้โดยไม่ต้องเดินไกล พอมาถึงก็มีพื้นที่ ที่สนับสนุนการใช้งานที่หลากหลาย รองรับการเรียนรู้ครบทุกมิติ ทั้งหมดนี้เพื่อตอบสนองนโยบายที่จะผลักดันให้วิชาการของทางโรงเรียนโดดเด่นขึ้นพร้อมกับการใช้ประโยชน์จากจุดแข็งที่โรงเรียนมีนั่นคือสถานที่ที่เพียบพร้อม และสุนทรียภาพของนักเรียนที่ไม่ได้ลดลงแม้แต่น้อย โดยมีแนวคิดหลัก ตามประเด็นดังต่อไปนี้ 1. เป็นพื้นที่ที่สนับสนุนการเรียนรู้ที่สามารถเข้าถึงง่าย 2. เป็นพื้นที่สำหรับการศึกษาค้นคว้า น่าสนใจ เกิดการเรียนรู้ที่เห็นผล 3. เป็นพื้นที่ที่มีสื่อการสอนที่รองรับการเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลาย 4. เป็นพื้นที่ที่มีทั้งความเป็นส่วนตัวและ สำรองรับการทำกิจกรรมกลุ่ม 5. เป็นพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ควบคู่กับการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 6. เป็นพื้นที่ในการพัฒนาสุนทรียภาพด้านศิลปะ ควบคู่กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 7. เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสผู้ที่เข้ามาใช้งาน ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการในการพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ท่านผู้อำนวยการฝากถึงทุกคนว่า “ฝากให้เข้าใจแนวคิดในการจัดทำศูนย์ ACT Learning Space และให้ทุกคนมีทักษะในศตวรรษที่ 21 ด้วย หวังว่าทุกคนจะได้ใช้ศูนย์ ACT STEM Center & Learning Space นี้ได้อย่างเต็มที่และเกิดประโยชน์สูงสุด”